เครื่องอบแห้งมันสัมปะหลัง /

เครื่องอบแห้งมันสัมปะหลัง

การอบแห้งมันเส้นด้วยเครื่องอบแห้งหมุนแบบกะ
Cassava Chip Drying with a Batch Type of Rotary Dryer

       เครื่องอบแห้งต้นแบบซึ่งใช้แก๊ส LPG เป็นเชื้อเพลิง ที่อัตราการไหลอากาศร้อน 0.25 m3/s ความเร็วรอบของโรตารี่ 2.5 rpm อุณหภูมิอากาศร้อน 90, 100 และ 110 °C เป็นเวลา 6 ชั่วโมง ประเมินผลการอบแห้งจากลักษณะของมันเส้นที่ได้ เส้นคุณลักษณะการอบแห้ง ความชื้นสุดท้ายของผลิตภัณฑ์ และอัตราการสิ้นเปลืองพลังงานจำเพาะ (specificenergy consumption, SEC) ซึ่งผลจากการทดลองพบว่าอุณหภูมิที่ใช้ในการอบแห้งมันเส้นมีผลต่ออัตราการอบแห้งเป็นอย่างมากโดยอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการอบแห้งมันเส้นคือ 110 oC เนื่องจากให้อัตราการอบแห้งสูงที่สุด และไม่เกิดการเสียสภาพของมันเส้นเนื่องจากความร้อน นอกจากนี้ยังพบว่าปริมาณการบรรจุมันเส้นลงในถังอบแห้งมีผลต่อความสามารถในการอบแห้ง จากการทดลองอบแห้งมันเส้นสดจำนวน 100, 140 และ 180 กิโลกรัม พบว่าที่ความจุต่ำสุดคือ 100 กิโลกรัม มันเส้นสด สามารถลดความชื้นมันเส้นได้เร็วที่สุด

การศึกษาต้นแบบการลดความชื้นกากมันสำปะหลังโดยใช้ระบบอบแห้งแบบโรตารี่
A study on the prototype of cassava pulp dehydration using a rotary drying system

         การเพิ่มคุณค่าของกากมันสำปะหลังซึ่งเป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังโดยวิธีการลดความชื้น และมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะลดเวลาและพื้นที่จากวิธีลดความชื้นแบบดั้งเดิม(การตากบนลานปูน) โดยแนวทางในการดำเนินงานคือ (1) การศึกษาความสามารถในการลดความชื้นแบบตากแห้งบนลานปูน และ (2) การศึกษาการลดความชื้นผ่านกระบวนการทางกล และทางความร้อนโดยใช้เครื่องเอ็กซ์ทรูเดอร์ และเครื่องอบแห้งแบบโรตารี่
จากการศึกษาพบว่ากากมันสำปะหลังจากโรงงานแป้งมันสำปะหลัง (บริษัท อุตสาหกรรมแป้งโคราช จำกัด) มีความชื้นเริ่มต้น 81.10% (w.b.) ในพื้นที่ 1 งาน(400 ตารางเมตร) สามารถตากกากมันสำปะหลังได้ 17,100 กิโลกรัม ได้กากมันสำปะหลังแห้งปริมาณ 3,665 กิโลกรัม ที่ความชื้น 11.82% (w.b.) หลังจากตากเป็นเวลา 12 วัน โดยแต่ละวันมีการกลับกอง 8 ครั้ง ส่วนการลดความชื้นโดยใช้เครื่องอบแห้งแบบโรตารี่ พบว่ากากมันสำปะหลังที่ผ่านเครื่องเอ็กซ์ทรูเดอร์ซึ่งมีความชื้น 68.5 % (w.b.) จำนวน 40 กิโลกรัม (หรือคิดเป็น 14% ของถังอบ) สามารถถูกลดความชื้นให้เหลือ 13.8 % (w.b.) ได้ภายในระยะเวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที ปริมาณกากมันสำปะหลังที่ได้นี้คิดเป็น 61.23 % ของปริมาณกากมันสำปะหลังแห้งทั้งหมด ส่วนที่เหลือ (38.77 %) ซึ่งเป็นกากมันสำปะหลังแห้งที่ลอดผ่านรูตะแกรง จะต้องถูกนำไปอบลดความชื้นเพิ่มเติมอีกครั้ง จากการวิเคราะห์หาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์พบว่า การลงทุนสร้างสายการผลิตตั้งแต่ เครื่องลดความชื้นกากมันสำปะหลังด้วยเอ็กซ์ทรูเดอร์ สายพานลำเลียง และเครื่องอบแห้ง มีระยะเวลาคืนทุน 5 ปี โดยมีอัตราผลตอบแทนการลงทุน 16.10%

 

การศึกษาต้นแบบการผลิตกากมันสำปะหลังแห้งสำหรับผลิตเอทานอลโดยใช้หลักการเอ็กทรูชั่น
(A Study on the Prototype of Dried Cassava Pulp Production for Ethanol Production Using an Extrusion Principle)

        การพัฒนาแนวทางในการลดความชื้นกากมันสำปะหลังเบื้องต้นโดยใช้หลักการเอ็กซ์ทรูชั่น ผลการทดลองพบว่ากากมันสำปะหลังมีลักษณะจับตัวกันเป็นก้อน อนุภาคมีลักษณะเป็นเส้นใยผสมอยู่กับแป้ง มีสีขาวอมเหลือง และมีความชื้นสูงประมาณ 75-80%w.b. มีความหนาแน่นเฉลี่ย 712.5 kg/m3 จากการทดสอบภายใต้สภาวะเสมือนของไหลพบว่ากากมันสำปะหลังจัดอยู่ในจำพวก viscoelastic ซึ่งจากการนำกากมันสำปะหลังสดไปทดสอบกับเครื่องเอ็กซ์ทรูเดอร์แบบต่างๆพบว่า สามารถลดความชื้นกากมันสำปะหลังได้ประมาณ 4 – 6%w.b. จากนั้นได้ทำการออกแบบและสร้างเครื่องเอ็กซ์ทรูเดอร์จากข้อมูลเบื้องต้น และทำการทดสอบเครื่องเอ็กซ์ทรูเดอร์ พบว่าความเร็วรอบและขนาดรูหัวดายมีผลต่อการลดความชื้น โดยสภาวะที่เหมาะสมคือที่ความเร็วรอบ 70 rpm และขนาดรูหัวดาย 6 mm ทำให้ได้กากอัดรีดที่มีความชื้นต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับสภาวะอื่นๆ คือได้ความชื้น 68.9%w.b. ลดลงจากความชื้นเริ่มต้นกากมันสำปะหลังสดประมาณ 8%w.b. (ความชื้นเริ่มต้นกากมันสำปะหลังสดเท่ากับ 76.7%w.b.) ซึ่งลักษณะของกากมันสำปะหลังอัดรีด (Extrudated) ที่ได้มีลักษณะร่วน แตกตัวได้ และไม่จับตัวเป็นก้อน ซึ่งสามารถนำไปลดความชื้นต่อโดยใช้เครื่องอบลมร้อนที่รูปแบบต่างๆ เช่น เครื่องอบแบบตะแกรงหมุน(Rotary Screen Dryer) เครื่องอบแบบฟลูอิดไดซ์เบด(Fluidize Bed Dryer) และเครื่องอบแบบกระบะ(Bed Dryer) เป็นต้น ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางในการพัฒนากระบวนการอบแห้งกากมันสำปะหลังได้อีกวิธีหนึ่ง