ที่มาของโครงการ

       สืบเนื่องจากวิกฤตพลังงานโลก ส่งผลให้เกิดความตื่นตัวในการพัฒนาพลังงานทดแทนจากแหล่งต่างๆ เพื่อลดผลกระทบจากวิกฤตการณ์ให้น้อยที่สุด ประเทศไทยเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเป็นหลัก พบว่ากว่าร้อยละ 60 ของความต้องการพลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้นมาจากการนำเข้า โดยในปี 2556 มูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบมีสัดส่วนมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 75 ของมูลค่าการนำเข้าพลังงานทั้งหมด (ศูนย์พยากรณ์และสารสนเทศพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน, 2556) และยังมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอีกเพราะไม่สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตปิโตรเลียมในประเทศได้ทันกับความต้องการใช้งาน การพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างจริงจังจะช่วยลดการพึ่งพาและการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง

 

       กระทรวงพลังงาน ได้จัดทำแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ Alternative Energy Development Plan (AEDP) เพื่อเป็นการกำหนดกรอบและทิศทางการพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศ โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้ได้อย่างน้อย ร้อยละ 25 ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของทั้งประเทศใน 10 ปี (พ.ศ.2555 – 2564) โดยมีวัตถุประสงค์ในการลดค่าใช้จ่ายการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าที่มากเกินไป และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ชีวมวลเป็นแหล่งพลังงานหนึ่งที่มีศักยภาพของประเทศไทยสามารถเป็นทางเลือกในการผลิตพลังงานทดแทนที่สำคัญ เนื่องจากไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีของเหลือใช้ทางการเกษตรที่เป็นชีวมวลจำนวนมาก เช่น ฟางข้าว ยอดอ้อย ใบอ้อย ลำต้นและซังข้าวโพด ลำต้นและเหง้ามันสำปะหลัง เศษไม้ตัดแต่ง เป็นต้น ชีวมวลเหล่านี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ มากกว่า 3,000 เมกกะวัตต์ นอกจากนี้ในแต่ละปีเกษตรกรได้เผาชีวมวลทิ้งเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดหมอกควันซึ่งเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมและทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนตามมา

 

       อย่างไรก็ตาม โรงงานผลิตพลังงานจากชีวมวลมีค่าลงทุนเริ่มต้นที่ค่อนข้างสูง การสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมหันมาใช้ชีวมวลในการผลิตพลังงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ และถือเป็นการสนับสนุนแนวทางการส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทดแทนตามเป้าหมายที่ได้กล่าวมาข้างต้น ดังนั้น โครงการนำร่องเพื่อผลิตพลังงานทดแทนจากชีวมวลในระดับชุมชน (ระยะที่ 2) จึงถือว่าเป็นกลไกหนึ่งในการสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานทดแทน เพื่อลดการพึ่งพาและนำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงจากต่างประเทศได้

 

       เทคโนโลยี Gasification เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง สำหรับนำมาใช้ในการผลิตพลังงานทั้งในรูปของ ความร้อน หรือไฟฟ้า มีประสิทธิภาพสูง และมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของน้อย ซึ่งอยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้ นอกจากนี้ ยังเป็นเทคโนโลยีที่ทำงานในสภาวะแรงดันต่ำ ทำให้สามารถใช้ผู้ปฏิบัติการที่มีทักษะน้อยหรือช่างเทคนิคทั่วไปได้

 

       ดังกล่าว วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ เพื่อส่งเสริมให้มีการนำร่องการผลิตพลังงานทดแทนจากชีวมวลในระดับชุมชน (ระยะที่ 2) ซึ่งเน้นทั้งการนำพลังงานที่ได้ไปใช้ด้านการผลิตความร้อน และกระแสไฟ้ฟ้า เพื่อเป็นการสนับสนุนการผลิตพลังงานจากชีวมวลด้วยเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชั่น โดยให้การช่วยเหลือทางด้านการลงทุนกับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและพร้อมที่จะลงทุนจัดสร้างระบบผลิตพลังงานจากชีวมวลด้วยเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชั่น อันเป็นการสนับสนุนแผน AEDP ของกระทรวงพลังงาน ให้สามารถใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกเพิ่มเป็น 25% ตามเป้าหมายที่วางไว้ในปี 2565 เกิดความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ ต่อไป

วัตถุประสงค์

1) เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จในยุทธศาสตร์การส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลิตและการใช้พลังงานอย่างกว้างขวาง
2) เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จในยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการปรับมาตรการจูงใจสำหรับการลงทุนจากภาคเอกชนให้เหมาะสมกับสถานการณ์การพัฒนาพลังงานทดแทน
3) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำศักยภาพพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกต่างๆ ในแต่ละชุมชน มาใช้ให้เกิดประโยชน์

ความเป็นมาของปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

        ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมซึ่งมีศักยภาพในการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหรือชีวมวลมาผลิตเป็นพลังงานทดแทนพลังงานฟอสซิลได้ในปริมาณมาก ทั้งในรูปของความร้อนและไฟฟ้า ปัจจุบัน เชื้อเพลิงชีวมวลเชิงพาณิชย์ เช่น แกลบ ชานอ้อย เศษไม้ยางพารา กะลาปาล์ม ถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตเกือบทั้งหมด อย่างไรก็ดี ยังมีเชื้อเพลิงไม่เชิงพาณิชย์ เช่น ฟางข้าว ใบอ้อย ยอดอ้อย เหง้ามันสำปะหลัง ทะลายปาล์มเปล่า ซังข้าวโพด เป็นต้น กระจัดกระจายหลงเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก
        ในปัจจุบัน โรงงานแปรรูปชีวมวลเป็นพลังงานจะเป็นโรงงานขนาดใหญ่ (>10 MW) โดยเป็นเทคโนโลยี Boiler เนื่องจากมีระยะในการคุ้มทุนสั้น แต่ก็มีข้อเสียหลายด้าน เช่น ต้นทุนในการลงทุนเริ่มต้นสูง และที่สำคัญต้องการชีวมวลในปริมาณมาก ซึ่งไม่สอดคล้องกับปริมาณเชื้อเพลิงที่กระจัดกระจาย ส่งผลให้เชื้อเพลิงไม่เชิงพาณิชย์ไม่ได้ถูกใช้อย่างแพร่หลาย ทั้งที่มีศักยภาพในการผลิตพลังงานมาก ดังนั้น การส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมซึ่งมีขนาดเล็กเหมาะกับชุมชนจึงเป็นการกระตุ้นให้มีการใช้พลังงานทางเลือกมาขึ้น และเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวคือ เทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชั่น

 

การดำเนินงานที่ผ่านมา

        สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้รับการจัดสรรเงินจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อดำเนิน โครงการนำร่องเพื่อผลิตพลังงานทดแทนจากชีวมวลระดับชุมชน ในวงเงิน 46,215,240 บาท ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี เริ่มต้นแต่เดือนกันยายน 2553 – กันยายน 2556 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานชีวมวลเป็นพลังงานทดแทนในภาคอุตสาหกรรม มาแปรรูปเป็นแก๊สเชื้อเพลิงสังเคราะห์โดยใช้เทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชั่น โดยมีการสรุปผลการดำเนินโครงการ ดังนี้
        1) สามารถผลิตพลังงานทดแทน จากระบบผลิตความร้อน 709.98 toe/ปี ระบบผลิตไฟฟ้า 1,300.61 toe/ปี (รวม 2,010.59 toe/ปี)
        2) คิดเป็นมูลค่าผลการประหยัดจากการใช้พลังงานทดแทน ระบบผลิตความร้อน 18,067,504 บาท/ปี ระบบผลิตไฟฟ้า 37,110,929 บาท/ปี (รวม 55,178,433.42 บาท/ปี)
        โดยผลสัมฤทธิ์ของ โครงการนำร่องเพื่อผลิตพลังงานทดแทนจากชีวมวลระดับชุมชน คือทำให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลิตและการใช้พลังงานอย่างกว้างขวาง และเป็นการจูงใจให้ภาคเอกชนมีการลงทุนการผลิตพลังงานจากชีวมวลมากขึ้น ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการผลิต การใช้พลังงานทดแทนภายในประเทศ อันก่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ